เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดเป็นสินค้าอันตรายเมื่อขนส่งหรือไม่?


Date:

July 14, 23



เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดเป็นสินค้าอันตรายเมื่อขนส่งหรือไม่?
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หมายถึง เครื่องดื่มทุกประเภทที่มีส่วนผสมของ เอทิลแอลกอฮอล์ (ETHYL ALCOHAL) ซึ่งเอทิลแอลกอฮอล์คือแอลกอฮอล์ ธรรมชาติที่ได้จากการหมักของพืชและ ผลไม้ชนิดต่างๆ เช่น ข้าว องุ่น ฯลฯ
สหประชาชาติกำหนดให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าอันตราย (UN3065) สำหรับการขนส่งในทุกรูปแบบการขนส่ง แต่อย่างไรก็ดี มีข้อยกเว้นบางอย่างสำหรับการขนส่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ในกรณีที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความเข้มข้นไม่เกิน 24% โดยปริมาตร จะไม่ถือว่าเป็นสินค้าอันตราย
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความเข้มข้นมากกว่า 24% แต่ไม่เกิน 70% โดยปริมาตร จัดเป็นสินค้าอันตราย (UN 3065, ALCOHOLIC BEVERAGES with more than 24% but not more than 70% alcohol by volume, Class 3, PG III) โดยมีข้อกำหนดพิเศษว่าหากขนส่งด้วยบรรจุภัณฑ์ขนาดไม่เกิน 250 ลิตร จะไม่จัดเป็นสินค้าอันตราย
ถ้าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความเข้มข้นมากกว่า 70% โดยปริมาตร จัดเป็นสินค้าอันตราย (UN 3065, ALCOHOLIC BEVERAGES with more than 70% alcohol by volume, Class 3, PG III) โดยไม่มีข้อกำหนดพิเศษ
ดังนั้นก่อนที่เราจะนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะต้องเช็คก่อนว่าจะนำเข้าท่าเรือปลายทางที่ไหน เพื่อทำการตรวจสอบ และปฏิบัติตามระเบียบของท่าเรือนั้นๆ อย่างเคร่งครัด เช่น ท่าเรือกรุงเทพ ในกรณีที่ถูกจัดเป็นสินค้าอันตรายต้องปฏิบัติตามระเบียบ กทท. โดยหากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นมีจุดวาบไฟต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียสจะถูกจัดเป็นสินค้าอันตรายกลุ่มที่ 2 ที่ต้องขนถ่ายข้างลำเรือ ยกเว้นขนส่งด้วยขนาดบรรจุภัณฑ์เป็นไปตามข้อยกเว้น Linited Quantity (LQ) หรือ Excepted Quantity (EQ) จะสามารถฝากเก็บในท่าเรือกรุงเทพได้ และสามารถขอให้โรงพักสินค้าเก็บสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำเร็จรูปในห้องเก็บสินค้ามีค่าที่โรงพักสินค้าพิธีการแทนการส่งมาเก็บไว้ ณ คลังสินค้าอันตราย
ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบเงื่อนไขของ LQ และ EQ ได้จาก http://check.dgbkp.in.th/ คสอUpdate

ที่มา : แผนกควบคุมสินค้าอันตราย ท่าเรือกรุงเทพ