ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสินค้าอันตรายขาเข้า-ขาออก โดยการท่าเรือ


Date:

September 25, 19

วิธีจัดการกับสินค้าอันตรายขาเข้า-ขาออก โดยการท่าเรือ



สินค้าอันตราย (Dangerous Goods) คือ สิ่งของ หรือวัตถุที่มีคุณสมบัติทางเคมีหรือทางกายภาพโดยตัวของมันเอง หรือเมื่อสัมผัสกับสารอื่น (อากาศ หรือ น้ำ ฯลฯ) ทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ ทรัพย์สิน หรือต่อสภาพแวดล้อม
______________________________________________
 
1. การดำเนินการเกี่ยวกับสินค้าอันตรายขาเข้า

1.1  การท่าเรือฯ แบ่งกลุ่มประเภทสินค้าอันตรายตามที่ IMO กำหนดไว้ใน IMDG-Code ออกเป็น 3 กลุ่ม  ดังนี้
       - กลุ่มที่ 1 สินค้าอันตรายที่การท่าเรือฯ ไม่อนุญาตให้ทำการบรรทุกหรือขนถ่ายบริเวณหน้าท่า ณ ท่าเรือกรุงเทพ
       - กลุ่มที่ 2 สินค้าอันตรายร้ายแรง (สินค้าอันตรายประเภท ก) การท่าเรือฯ อนุญาตให้ทำการบรรรทุกหรือ ขนถ่ายในบริเวณท่าเรือกรุงเทพได้ แต่ต้องนำออกทันทีที่ขนถ่ายขึ้นจากเรือ

       - กลุ่มที่ 3 สินค้าอันตรายนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกลุ่มที่ 1 และ 2 (สินค้าอันตรายประเภท ข) การท่าเรือฯ จะรับฝากเก็บ ณ บริเวณที่ท่าเรือกรุงเทพกำหนด โดยมีระยะเวลาในการ  ฝาก เก็บไม่เกิน 5 วันทำการ นับจากวันเสร็จสิ้นการขนถ่าย

1.2  เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือฯ ยื่นแบบรายการสินค้าอันตราย (Dangerous Goods Declaration) ซึ่งสำแดงรายการสินค้าอันตรายตามที่กำหนดไว้ในหนังสือ International Maritime Dangerous Goods Code (IMDG-Code) ที่แผนกควบคุมสินค้าอันตราย กองบริการงานทั่วไป ท่าเรือกรุงเทพ ก่อนเรือเทียบท่า 9 ชั่วโมง ข้อมูลในแบบรายการสินค้าอันตรายประกอบด้วย ชื่อทางเคมี (Chemical Name) หรือชื่อที่ถูกต้องในการขนส่ง (Proper Shipping Name) หมายเลขสหประชาชาติ (UN Number) ประเภทของสินค้าอันตราย (Class) พร้อมรายละเอียดอื่นๆ ตามตัวอย่างแนบและต้องมีข้อความ "ขอรับรองว่าราย การสินค้าอันตรายดังกล่าวนี้แจ้งชื่อ ประเภท UN Number ถูกต้อง และบรรจุในภาชนะที่ได้มาตรฐานพร้อมติดฉลากตามที่ IMDG-Code กำหนดทุกประการ" พร้อมทั้งเซ็นชื่อกำกับในเอกสารนั้น และแนบเอกสาร Material Safety Data Sheet หรือเอกสารกำกับการขนส่งสินค้าอันตรายอื่นที่มีรายละเอียดข้อมูลตามต้องการของรายการสินค้าอันตรายแแต่ละรายการไปด้วย

1.3 สินค้าอันตรายกลุ่มที่ 1 ที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องจักร อนุญาตให้ทำการบรรทุกหรือขนถ่ายในบริเวณท่าเรือกรุงเทพได้ โดยให้ถือปฏิบัติเช่นเดียวกับสินค้าอันตรายกลุ่มที่ 2

1.4 สินค้าอันตรายร้ายแรงกลุ่มที่ 2 (สินค้าอันตรายประเภท ก)
       1.4.1 สินค้าอันตรายประเภท ก ที่ดำเนินพิธีการทางศุลกากร และชำระค่าภาระต่างๆ แก่การท่าเรือฯ เรียบร้อยแล้ว แต่รถบรรทุกยังไม่สามารถนำสินค้าออกนอกเขตการท่าเรือฯ ได้ การท่าเรือฯ อนุญาตให้นำรถบรรทุกไปจอดไว้ในพื้นที่ที่กำหนด จนกว่าจะนำออกไปได้
       1.4.2 สินค้าอันตรายประเภท ก (ที่เป็นสินค้าผ่านแดน) อนุญาตให้ทำการขนถ่ายได้ โดยนำสินค้าไปฝากเก็บ ณ คลังสินค้าอันตราย
       1.4.3 สินค้าอันตรายประเภท ก ที่เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เช่น เครื่องสำอาง น้ำยาลบคำผิด ฯลฯ อนุญาตให้ทำการขนถ่ายได้ และฝากเก็บไว้ ณ พื้นที่ที่กำหนด
       1.4.4 ภาชนะบรรจุเปล่าที่เคยบรรจุสินค้าอันตรายประเภท ก อนุญาตให้ทำการขนถ่ายได้ และฝากเก็บไว้ ณ พื้นที่ที่กำหนด

 
______________________________________________

2. การดำเนินการเกี่ยวกับสินค้าอันตรายขาออก

2.1 การท่าเรือฯ แบ่งกลุ่มสินค้าอันตรายออกเป็น 3 กลุ่ม เช่นเดียวกับสินค้าอันตรายขาเข้า
       - กลุ่มที่ 1 สินค้าอันตรายที่การท่าเรือฯ ไม่อนุญาติให้ทำการบรรทุกลงเรือบริเวณหน้าท่า ณ ท่าเรือกรุงเทพ
       - กลุ่มที่ 2 สินค้าอันตรายร้ายแรง (สินค้าอันตรายประเภท ก) การท่าเรือฯ ไม่อนุญาตให้ทำการบรรจุตู้สินค้า ที่แผนกควบคุมการบรรจุตู้สินค้า เมื่อนำตู้สินค้าอันตราย เข้ามาแล้วต้องบรรทุกลงเรือโดยตรง ไม่อนุญาตให้วางพักไว้ในอาณาบริเวณท่าเรือกรุงเทพ
       - กลุ่มที่ 3 สินค้าอันตรายนอกเหนือจากกลุ่มที่ 1 และ 2 การท่าเรือฯ อนุญาตให้ทำการบรรจุตู้สินค้า ที่แผนกควบคุมการบรรจุตู้สินค้า   และฝากเก็บไว้ในอาณาบริเวณ ท่าเรือกรุงเทพได้ไม่เกิน 5 วันทำการ ก่อนการบรรทุกลงเรือ

2.2 การยื่นเอกสารสินค้าอันตรายขาออก
       2.2.1 สินค้าอันตรายที่ขอบรรจุตู้สินค้า ที่แผนกควบคุมการบรรจุตู้สินค้า เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของสินค้าต้องยื่นสำเนาใบขนสินค้าขาออก พร้อมหมายเลขตู้สินค้าที่ต้องการบรรจุสินค้าอันตราย ชื่อทางเคมี (Chemical Name) หรือชื่อที่ถูกต้องในการขนส่ง(Proper Shipping Name), UN Number, ประเภทสินค้าอันตราย (Class) พร้อมรายละเอียดอื่นๆ เช่นเดียวกับสินค้าอันตรายขาเข้า พร้อมทั้งแนบ Material Safety Data Sheet หรือเอกสารกำกับการขนส่งสินค้าอันตรายอื่นที่มีรายละเอียดข้อมูลตามต้องการ ณ แผนกควบคุมสินค้าอันตราย กองบริหารงานทั่วไป ท่าเรือกรุงเทพ ล่วงหน้า 9 ชั่วโมง ก่อนนำสินค้าอันตรายเข้ามาในอาณาบริเวณท่าเรือกรุงเทพเพื่อบรรจุตู้สินค้า
       2.2.2 สินค้าอันตรายที่บรรจุตู้สินค้ามาจากภายนอก เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของสินค้ายื่นเอกสารเช่นเดียวกับข้อ 2.2.1 และเพิ่มเอกสารแบบ ทกท. 308.2
       2.2.3 ตู้แทงค์ (Tank Container) ที่บรรจุสินค้าอันตรายแล้วและมีความประสงค์จะทำการส่งตู้แทงค์เปล่าเป็นตู้สินค้าขาออก ต้องนำเอกสารมายื่นที่แผนกควบคุมสินค้าอันตราย กองบริหารงานทั่วไป ท่าเรือกรุงเทพ เช่นเดียวกับข้อ 2.2.2

2.3 สินค้าอันตรายกลุ่มที่ 1 ที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องจักร อนุญาตให้ทำการบรรทุกลงเรือบริเวณหน้าท่า ท่าเรือกรุงเทพ แต่ไม่อนุญาตให้ทำการบรรจุตู้สินค้าที่แผนกควบคุมการบรรจุตู้สินค้า เมื่อนำตู้สินค้าอันตรายเข้ามาแล้ว ต้องบรรทุกลงเรือโดยทันที ไม่อนุญาตให้วางพักไว้ในอาณาบริเวณท่าเรือกรุงเทพ

2.4 สินค้าอันตรายกลุ่มที่ 2 (สินค้าอันตรายประเภท ก)          
        2.4.1 สินค้าอันตรายประเภท ก ที่เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เช่น เครื่องสำอาง น้ำยาลบคำผิด ฯลฯ อนุญาตให้ทำการบรรจุสินค้า ที่แผนกควบคุมการบรรจุตู้สินค้า และฝากเก็บไว้ ณ พื้นที่ที่กำหนดได้ไม่เกิน 5 วันทำการก่อนการบรรทุกลงเรือ
        2.4.2 ภาชนะเปล่าที่เคยบรรจุสินค้าอันตรายประเภท ก อนุญาตให้ทำการบรรจุตู้สินค้าที่แผนกควบคุมการบรรจุตู้สินค้า และฝากเก็บไว้ ณ พื้นที่ที่กำหนดได้ไม่เกิน 5 วันทำการ ก่อนการบรรทุกลงเรือ
        2.4.3 สินค้าอันตราประเภท ก. ดังต่อไปนี้
                 - Aerosols Class 2 UNNO 1950
                 - Receptacle, small, containing gas Class 2 UNNO 2037
         **ให้ถือปฏิบัติเช่นเดียวกับสินค้าอันตรายกลุ่มที่ 3 เนื่องจากเป็นภาชนะบรรจุก๊าซขนาดเล็ก
        2.4.4 สินค้าอันตรายประเภท ก ที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องจักรอนุญาตให้ทำการบรรจุตู้สินค้าที่แผนกควบคุมการบรรจุตู้สินค้า และฝากเก็บไว้ ณ พื้นที่ที่กำหนดได้ไม่เกิน 5 วันทำการก่อนการบรรทุกลงเรือ
        2.4.5 สินค้าอันตรายประเภท ก ที่มีปริมาณน้อยกว่า 2,000 กิโลกรม อนุญาตให้ทำการบรรจุตู้สินค้าที่แผนกควบคุมการบรรจุตู้สินค้า และฝากเก็บไว้ ณ พื้นที่ที่กำหนดได้ไม่เกิน 5 วันทำการ ก่อนการบรรทุกลงเรือ

2.5 สินค้าอันตรายกลุ่มที่ 3 (สินค้าอันตรายประเภท ข) สินค้าอันตรายที่ห้ามทำการบรรจุตู้สินค้า ณ แผนกควบคุมการบรรจุตู้สินค้า ได้แก่
        - Asbestos
        - Carbon black
        - Paraformaldehyde
        - สินค้าอันตราประเภท ข เจ้าของเดียวที่มีจำนวนตู้สินค้ามากกว่า 30 TEUs
(Twenty feet Equivalent Unit)

2.6 สินค้าอันตรายขาออกที่เป็น waste จะต้องระบุว่า "waste" ในสำเนาใบขนสินค้าขาออก
______________________________________________


3. ข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการดำเนินการเกี่ยวกับสินค้าอันตราย

3.1 ในการดำเนินการเกี่ยวกับสินค้าอันตราย หัวหน้าผู้ซึ่งชำนาญงาน (Foreman) ที่ผ่านการอบรมหลักสูตร ความปลอดภัยในการบรรทุกหรือขนถ่ายสินค้าอันตราย ต้องทำการควบคุมการบรรทุกและขนถ่ายอย่างเข้มงวด รัดกุม ปลอดภัย ตามที่การท่าเรือฯ กำหนดไว้

3.2 การบรรทุกและขนถ่ายสินค้าอันตรายต้องถูกต้องตามกฎระเบียบ การบรรทุกและขนถ่ายสินค้าอันตรายของการท่าเรือฯ รวมทั้งกฎเกณฑ์ข้อบังคับระหว่างปรเทศด้วย

3.3 ให้ตัวแทนเรือนำแผนผังการจัดเก็บสินค้าอันตรายในระวางเรือ มาติดไว้บริเวณช่องทางขึ้นบนเรือก่อนการปฎิบัติงานบรรทุกและขนถ่ายสินค้าอันตรายทุกครั้ง

3.4 ห้ามทำการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับเรือสินค้า ขณะทำการบรรทุกและขนถ่ายสินค้าอันตราย

3.5 ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสินค้าอันตรายภายในเขตการท่าเรือฯ จะต้องสวมอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามประเภทของสินค้าอันตรายในการปฎิบัติงานทุกครั้ง

3.6 การจัดเก็บสินค้าอันตรายต้องปฎิบัติตามกฎระเบียบในการเก็บรักษาสินค้าอันตรายอย่างเคร่งครัด

3.7 ภาชนะที่ใช้บรรจุสินค้าอันตราย ต้องได้มาตรฐานตามที่ IMDG-Code กำหนดไว้และต้องปิดฉลากสินค้าอันตรายบนภาชนะหรือตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าอันตรายให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการบรรจุสินค้าอันตรายเต็มตู้สินค้าหรือปนกับสินค้าทั่วไป โดยยึดหลักการจัดแบ่งประเภทของสินค้าอันตรายตามIMDG-Code

3.8 ห้ามมิให้เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของสินค้า เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือฯ ทำการอบยาตู้สินค้าเปล่าเพื่อฆ่าเชื้อ ในอาณาบริเวณท่าเรือกรุงเทพ ยกเว้นตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าเกษตรอนุญาตให้อบยาฆ่าเชื้อได้บริเวณ แผนกควบคุมการบรรจุตู้สินค้าและต้องปิดฉลากแสดงให้รู้ว่าเป็นตู้สินค้าอบยา แล้วนำไปวางที่ท่าบริการตู้สินค้า 1 หรือ 2

3.9 สินค้าประเภทเครื่องสำอางสำเร็จรูปและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทาง IMO กำหนดให้เป็นสินค้าอันตราย การท่าเรือฯ อนุญาตให้ฝากเก็บที่โรงพักสินค้าพิธีการได้

3.10 สินค้าที่ IMO ไม่จัดว่าเป็นสินค้าอันตราย แต่การท่าเรือฯ ไม่รับฝากเก็บภายในโรงพักสินค้า ต้องฝากเก็บในตู้สินค้าเท่านั้น คือ
         3.10.1 สินค้าประเภทของเสีย (Waste) สินค้าประเภทเปรอะเปื้อนและสินค้าประเภทมีกลิ่นเหม็น
         3.10.2 สินค้าเคมีที่มีค่าความเข้มข้นของสารเกินกว่าค่าตามประกาศ กระทรวงมหาดไทย เรื่องความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับภาวะแวดล้อม (สารเคมี) ลง วันที่ 30 พฤษภาคม2520 ในกรณีที่สินค้านั้นจะทำการขนถ่ายข้างลำ (overside) ให้ทำการขนถ่ายข้างลำได้เฉพาะนอกเวลางานปกติเท่านั้น
         3.11 ในการขนส่งสินค้าอันตราย จะต้องทำการผูกยึดสินค้าอันตราย บนรถบรรทุกให้แน่นหนา ก่อนขนส่งออกจากการท่าเรือฯ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการขนส่ง
______________________________________________


4. การดำเนินการกรณีไม่ปฎิบัติตามประกาศการท่าเรือฯ

4.1 สินค้าอันตรายขาเข้า กรณีเจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของสินค้า ไม่ปฏิบัติตามประกาศการท่าเรือฯ ในการดำเนินการเกี่ยวกับสินค้าอันตราย อันอาจเป็นเหตุให้เกิดอุบัติภัย หรือเกิดความเสียหายแก่ชีวิตทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมได้ การท่าเรือฯ จำดำเนินการดังนี้
        4.1.1 หากตรวจพบว่า เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือละเลยไม่แจ้งบัญชีสินค้าอันตราย หรือแจ้งไม่ครบตามที่ระบุไว้ในบัญชีสินค้าสำหรับเรือ หรือมิได้แจ้งภายในระยะเวลาที่การท่าเรือฯ กำหนด การท่าเรือฯ จะเรียกเก็บค่าปรับในอัตรา 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ต่อ 1 ลำเรือ โดยเรียกเก็บจากเจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือ
        4.1.2 หากตรวจพบว่า เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของสินค้า ละเลยไม่แจ้งในบัญชีสินค้าวอันตรายการท่าเรือฯ จะเรียกเก็บค่าปรับในอัตรา 3,000 บาท (สามพันบาทถ้วน) ต่อ 1 ใบตราส่งสิน
ค้า โดยเรียกเก็บจากเจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของสินค้า
        4.1.3 ตู้สินค้าบรรจุสินค้าอันตราย ที่ไม่ติดฉลากสินค้าอันตราย ติดฉลากสินค้าอันตรายอยู่แล้วแค่ฉีกออก หรือนำสินค้าอันตรายออกจากตู้สินค้าแล้ว ไม่ฉีกฉลากออกจากตู้สินค้า การท่า
เรือฯ จะเป็นผู้ติดฉลากสินค้าอันตราย หรือทำการลอกฉลากออกให้ แต่จะเรียกเก็บค่าปรับจากเจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของสินค้า ดังนี้
           - กรณีติดฉลากสินค้าอันตราย ค่าปรับฉลากละ 500 บาท (ห้าร้อยบาทถ้วน)
           - กรณีทำการลอกฉลากสินค้าอันตราย ค่าปรับตู้ละ 100 บาท (หนึ่งร้อยบาทถ้วน)
        4.1.4 ในกรณีที่ความเสียหายใดๆ เกิดขึ้นเนื่องจากการที่เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือ เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของสินค้า ละเลยไม่ปฏิบัติตามประกาศการท่าเรือฯ เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือ เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของสินค้า จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในค่าเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นต่อการท่าเรือฯ หรือผู้อื่นที่ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น และการท่าเรือฯ อาจพิจารณางดการให้บริการต่อไปด้วย

4.2 สินค้าอันตรายขาออก กรณีเจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของสินค้าไม่ปฏิบัติตามประกาศการท่าเรือฯ ในการดำเนินการเกี่ยวกับสินค้าอันตราย อันอาจเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดความเสียหายแก่ชีวิตทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมได้ การท่าเรือฯ จำดำเนินการดังนี้
        4.2.1 หากตรวจพบว่าเจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของสินค้าละเลย ไม่ยื่นเอกสารหรือมิได้แจ้งภายในระยะเวลาที่การท่าเรือฯ กำหนด การท่าเรือฯ จะเรียกเก็บค่าปรับในอัตรา 3,000 บาท (สามพันบาทถ้วน) ต่อสินค้าอันตราย 1 รายการ
        4.2.2 ตู้สินค้าบรรจุสินค้าอันตราย หากตรวจพบว่าไม่ติดฉลาก สินค้าอันตราย การท่าเรือฯ จะเป็นผู้ติดฉลากสินค้าอันตราย แต่จะเรียกเก็บค่าปรับจากเจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของสินค้าในอัตราฉลากละ 500 บาท (ห้าร้อยบาทถ้วน)
        4.2.3 ในกรณีที่ความเสียหายใดๆ เกิดขึ้น เนื่องจากการที่เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือ เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของสินค้าละเลยไม่ปฏิบัติตามประกาศ การท่าเรือฯ เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือ เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของสินค้า จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในค่าเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นต่อการท่าเรือฯ หรือผู้อื่นที่ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น และการท่าเรือฯ อาจพิจารณางดการให้บริการต่อไปด้วย